โครงการวิจัยพัฒนา วัคซีน HXP–GPOVac
ชื่อผลงาน : วัคซีน HXP–GPOVac
ที่มาและความสำคัญของโครงการ :
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินทางทางสาธารณสุข
ผลผลิตจากงานวิจัย :
วัคซีน HXP–GPOVac เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่ผลิตโดยใช้ไข่ไก่ฟัก ได้เชื้อไวรัสตั้งต้นจากการตัดต่อยีนที่สร้าง Spike protein ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SAR-CoV-2 virus) ลงไปบนผิวของเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle Disease Virus, NDV) ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มความคงสภาพของโปรตีน (HexaPro) ได้เป็นไวรัสลูกผสม NDV-HXP-S ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนได้ดีในไข่ไก่ฟัก และมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 จึงสามารถใช้เป็นวัคซีนได้และอภ.มีศักยภาพและมีความพร้อมในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
จากนั้นนำหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่ได้ไปเพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟัก แล้วจึงนำไวรัสที่เพาะเลี้ยงได้เข้าสู่กระบวนการทำให้บริสุทธิ์และใส่สารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส เพื่อให้มั่นใจว่าได้วัคซีนที่มีความปลอดภัยต่อผู้รับวัคซีน แล้วจึงเข้าสู่การทำตำรับ กรองปราศจากเชื้อ และบรรจุลงขวดก่อนการจัดส่งถึงผู้บริโภคต่อไป
การนำไปใช้ประโยชน์ :
การวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19โดยอภ. จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาชีววัตถุได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของประเทศ โดยหลังจากที่วัคซีนได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization, EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำเร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2565 โดยจะสามารถผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี