แนวทางการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมด้วยทฤษฎีการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมระบบคัดกรองผู้ป่วยและออกแบบห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาลชุมชน
ชื่อผลงาน : ปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก จากแบบมาตรฐาน เลขที่ 3130
ที่มาและความสำคัญของโครงการ :
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในอากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านระบบทางเดินหายใจที่มาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นสถานพยาบาลพื้นฐาน อาคารผู้ป่วยนอกที่ก่อสร้างตามแบบของกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 3130 ก่อสร้างมาเกินกว่า 30 ปี มีปัญหาความทรุดโทรม และมีการต่อเติมแก้ไขปรับปรุงไม่ตอบสนองต่อการใช้งาน ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย โครงการวิจัยนี้ได้สร้างต้นแบบการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) และอาคารอื่นๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรค
ผลผลิตจากงานวิจัย :
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยนำมาสู่
1. การออกแบบปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) เดิม ของแบบมาตรฐาน เลขที่ 3130 ปรับผังอาคารใหม่ และออกแบบใหม่ 2 อาคาร
2. อาคารคลินิกโรคระบาดทางเดินหายใจ ผังอาคารที่ออกแบบใหม่ 3) อาคารสนับสนุนและฝ่ายบริหาร ทั้งนี้คลังยา ควรไว้ชั้นที่ 1 หรือแยกออกมาจากพื้นที่เดิมให้อยู่บริเวณชั้นที่ 1 ของอาคารเพื่อความสะดวกต่อการขนส่ง อย่างไรก่ตามการออกแบบและปรับปรุงอาคารของแต่ละโรงพยาบาลชุมชนจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพแวดล้อมอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาคารที่ได้รับการปรับปรุงที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจัดการเรื่องงบประมาณที่จะได้รับจากรัฐบาลหรือการบริจาค นโยบายของแต่ละผู้บริหาร การออกแบบปรับปรุงและการออกแบบใหม่สามารถดำเนินการเป็นส่วนๆ ของอาคารได้ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการครั้งเดียวทั้งหมดขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่อาคารทั้งหมดควรจะเชื่อมเข้าหากันได้ด้วยการออกแบบทางเดินหลักที่ป้องกันแดด ฝน ทำให้ผู้ใช้งานอาคาร ผู้ป่วย สามารถสัญจรกันไปมาเชื่อมกันได้ในแต่ละอาคารที่มีอยู่เดิมกับอาคารที่จะเกิดขึ้นใหม่
การนำไปใช้ประโยชน์ :
1. เกิดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหาการจัดการพื้นที่ด้านกายภาพ ลดการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ
2. ต้นแบบการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) อาคารคลินิกโรคระบาดทางเดินหายใจ อาคารสนับสนุนและฝ่ายบริหาร เพื่อเป็นแนวทางของโรงพยาบาลชุมชนที่อื่น
3. โรงพยาบาลชุมชนเป็นหน่วยงานหลักที่สามารถนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงกำหนดนโยบายบริหาร ซึ่งส่งผลต่อการกระจายงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขหรือการใช้เงินบริจาค