เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายปอดผู้ป่วยโควิด-19
ชื่อผลงาน : เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายปอดผู้ป่วยโควิด-19
ที่มาและความสำคัญของโครงการ :
เนื่องด้วยเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 หรือ COVID-19) มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทางอากาศและทางการสัมผัส ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจคัดกรอง และติดตามผลการรักษาจึงจำเป็นต้องแยกจากอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด-19 จำเป็นต้องแยกสถานที่และจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อใช้งานกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ การตรวจคัดกรองและติดตามผลการรักษาผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงต้องอาศัยภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูสภาพของปอดที่ถูกทำลายและใช้ในการประเมินวิธีการรักษาว่าจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เพราะถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของปอดไม่เพียงพอจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ถึงแม้ว่าภาพเอกซเรย์จะไม่สามารถให้ความคมชัดของภาพได้เท่ากับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ (ซีที) แต่การใช้เครื่องเอกซเรย์จะสามารถลดค่าใช้จ่ายและลดการปะปนของผู้ป่วยโควิดกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีกว่าซีที นอกจากนี้เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลยังใช้งานง่ายไม่ต้องล้างฟิล์มหรือสแกนตลับบันทึกภาพ (cassette) เหมือนในระบบเอกซเรย์แบบเก่าที่เป็นฟิล์มหรือซีอาร์ (CR), สามารถให้ผลภาพได้ทันที, และผู้ป่วยได้รับรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์แบบเก่าหรือเครื่องซีที
ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีความชำนาญและประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำรังสีทรงกรวยสำหรับงานทันตกรรมมามากกว่า 10 ปี และได้พัฒนาเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ บอดีเรย์ (BodiiRay) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า, มาตรฐานความปลอดภัยทางรังสี, และมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ (ISO 13485) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล บอดีเรย์ เอส (BodiiRay S) และบอดีเรย์ อาร์ (BodiiRay R) มีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการใช้งานในโรงพยาบาลสนาม คือ เครื่องบอดีเรย์ เอส ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกโดยเฉพาะ ทำให้จัดท่าผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยมีรีโมทคอนโทรลที่ใช้ในการจัดท่าผู้ป่วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเข้าใกล้ผู้ป่วย ซึ่งลดการแพร่เชื้อได้ ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่าย เมื่อเทียบกับเครื่องเอกซเรย์ที่ติดตั้งในห้องเอกซเรย์ ส่วนเครื่องบอดีเรย์ อาร์ เป็นชุดแปลงเอกซเรย์ให้เป็นดิจิทัล สามารถปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้งานกับเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ (Mobile/Portable x-ray) หรือปรับใช้กับรถเอกซเรย์ระบบเก่า ให้เป็นระบบดิจิทัลได้ ทำให้สามารถได้ภาพเอกซเรย์ทันที นอกจากนี้ ภาพเอกซเรย์ที่ได้ยังถูกจัดเก็บในรูปแบบมาตรฐาน DICOM ทำให้สามารถสื่อสารกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลและส่งไปให้รังสีแพทย์อ่านผลได้ ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานกับเครื่องบอดีเรย์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมานี้ ยังสามารถปรับให้เข้ากับการใช้งานของโรงพบาบาลสนามที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น ภาพเอกซเรย์ดิจิทัลที่ได้จากเครื่องบอดีเรย์ ได้ผ่านกระบวนการประมวลผลภาพทางดิจิทัลในการทำให้ภาพมีความคมชัด ซึ่งทางทีมวิจัยได้พัฒนาโดยปรึกษารังสีแพทย์และนักรังสีการแพทย์แล้วในการทำการทดสอบทางคลินิกที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนเป็นที่ยอมรับจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ได้นำเครื่องบอดีเรย์ไปติดตั้งใช้งานแล้ว ในปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับโดยการใช้ซอฟต์แวร์ในการลดการกระเจิงของรังสี (scatter) ทดแทนการใช้ กริด (grid) ซึ่งกระบวนการประมวลผลภาพทางดิจิทัลทั้งสองนี้ ได้ถูกตีพิมพ์และมีการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้ว
โครงการนี้ สวทช. จะดำเนินการผลิตและติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล บอดีเรย์ เอส และ บอดีเรย์ อาร์ ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น, คัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ดิจิทัลที่ีมีคุณภาพอย่างรวดเร็ว, ติดตามการลุกลามของโรคที่ปอดเพื่อรักษาหรือส่งตัวผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้อย่างรวดเร็ว, สามารถถ่ายผู้ป่วยได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น, สามารถติดตั้งและใช้งานเครื่องในสถานที่ที่แยกจากส่วนที่รักษาผู้ป่วยทั่วไป, และลดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จะลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และโอกาสการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาล
ผลผลิตจากงานวิจัย :
1. เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก (BodiiRay S) จำนวน 3 เครื่อง
2. ชุดแปลงเอกซเรย์เป็นดิจิทัล (BodiiRay R) จำนวน 3 เครื่อง
การนำไปใช้ประโยชน์ :
เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลทั้ง 6 เครื่อง ถูกนำไปติดตั้งและใช้งานที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม จำนวน 6 แห่ง เพื่อใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาล