ผลกระทบและความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรชาวเขาในพื้นที่ตะเข็บชายแดน. และความพร้อมต่อการป้องกันและควบคุมกรณีเกิดการระบาด
ชื่อผลงาน: สื่อการเรียนรู้โรคโควิด-19 และคู่มือหลักสูตรการอบรมจำนวน 3 หลักสูตร
ที่มาและความสำคัญของโครงการ :
โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความรุนแรงในการดำเนินโรค ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเวลาอันสั้น นอกจากนั้นยังมีอัตราการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยผ่านกลไกการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดซึ่งสัมพันธ์กับพลวัตของสังคมมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดการระบาดไปในวงกว้างและรวดเร็ว ประกอบกับยังมีข้อจำกัดในเรื่องการรักษาพยาบาล แม้จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแล้ว ดังนั้นกลวิธีที่มนุษยชาติจะหลีกพ้นจากการติดเชื้อและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในทุกมิติ ในทุกกลุ่มประชากรและ มีผลกระทบที่แตกต่างกันไป กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้พึ่งพิงเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งจากการระบดาของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ยังมีการเคลื่อนที่ของประชากรต่าง ๆ ระหว่างประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ตะเข็บชายแดนทางภาคเหนือของประเทศ เช่น ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีทั้งด่านถาวร ด่านชั่วคราวและช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก ในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้เข้าออกด่านต่าง ๆ จำนวนมาก และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่ผ่านเข้ามาประเทศอย่างไม่ถูกกฎหมาย และการเข้าออกประเทศจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากกว่า 700 หมู่บ้าน ทำให้กลุ่มประชากรเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับกลุ่มประชากรเหล่านี้มีระดับการสถานเศรษฐกิจและการศึกษาต่ำ ความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยมีอย่างจำกัด ดังนั้นทำให้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารรวมถึงวิธีการปฏิบัติต่อการป้องกันการติดเชื้อเป็นไปอย่างจำกัด ด้วย
ดังนั้น ในการศึกษาครั้งนี้มุ่งพัฒนาเครื่องมือในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและควบคุมโรค-19 ในกลุ่มประชากรชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดน รวมถึงพัฒนาศักยภาพในความพร้อมต่อการแพร่ระบาดในระลอกต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพที่มีการทะลักของแรงงานและการเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงานจากช่องผ่านแดนธรรมชาติ เนื่องจากช่องผ่านแดนปกติมีความเข้มงวดในกฎระเบียบมากทำให้กลุ่มประชากรเหล่านี้ต้องเดินทางผ่านช่องผ่านแดนธรรมชาติมากขึ้น
ผลผลิตจากงานวิจัย :
1. สื่อการเรียนรู้ของโรคโควิด-19 โดยมีทั้ง 5 เรื่อง ได้แก่
1.1 สื่ออการเรียนรู้ที่ 1: ความรู้เบื้องต้นและความรุนแรงของเกี่ยวกับโรคโควิด ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นและถูกต้องเกี่ยวกับโรคการติดต่อ การป้องกันและควบคุมโรค COVID – 19
1.2 สื่อการเรียนรู้ที่ 2: การสาธิตการใช้เครื่องมือป้องกันที่จำเป็น (หน้ากากอนามัย การเลือกเจลแอลกอฮอล์ และการล้างมือ)พร้อมทั้งการกำจัดเศษวัสดุที่ใช้งานแล้วที่ถูกต้อง
1.3 สื่อการเรียนรู้ที่ 3: การปฏิบัติตัวเมื่อไปสถานบริการด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)
1.4 สื่อการเรียนรู้ที่ 4: เทคนิคและกระบวนการการกักตัวในระดับชุมชนและหมู่บ้าน การสังเกตบุคคลในครอบครัวชุมชน การประเมินเบื้องต้น และการรายงานสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
1.5 สื่อการเรียนรู้ที่ 5: การเตรียมพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
2. คู่มือหลักสูตรการอบรมจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
2.1 หลักสูตการพัฒนาศักยภาพสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
2.2 หลักสูตการพัฒนาศักยภาพสำหรับผู้ช่วยเหลือคนไข้หรือพนักงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
2.3 หลักสูตการพัฒนาศักยภาพสำหรับประชาชน ผู้นำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และกลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล
การนำไปใช้ประโยชน์ :
1. ประชาชน ชุมชนสามารถนำความรู้ทักษะในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ได้
2. องค์การบริหารส่วนตำบล สามารถใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19
3. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและหน่วยงานสาธารณสุขสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรวมถึงแนวทางการดำเนินงานได้
4. สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุขระดับชาติและนานาชาติ สามารถนำแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคคล ชุมชนในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ได้