การพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2
ชื่อผลงาน : วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2
ที่มาและความสำคัญของโครงการ :
การระบาดของไวรัส SARS-CoV-2 ในขณะนี้ กำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลกจากการรายงานการพบเชื้อ SARS-CoV-2 ครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 20 พฤษภาคม 2564) พบว่าเชื้อได้ระบาดไปทั่วโลก มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อมากกว่า 164 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 3.41 ล้านคน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของ SARS-CoV-2 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก สำหรับประเทศไทย มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อจำนวน 119,585 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 703 ราย การระบาดระลอกใหม่นี้ มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อทั้งระบบสารณะสุขและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในเชิงรุก การพัฒนาวัคซีนจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในประชากรส่วนใหญ่ (herd immunity) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโรค เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและความกังวลของประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เลือกใช้ mRNA-based vaccine เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและมีความพร้อมสูง โดยปัจจุบัน mRNA vaccine ได้มีการพัฒนาและออกแบบให้สามารถในถอดรหัสเป็นโปรตีนเป้าหมายได้มากขึ้น มีความคงตัวสูงขึ้นเมื่อมีการพัฒนาระบบนำส่งที่มีประสิทธิภาพ ผลิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ควบคุมคุณภาพการผลิตในระดับ GMP ได้ง่าย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทั้ง Antibody และ T cell responses
ผลผลิตจากงานวิจัย :
เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนที่ผลิตในตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ทดสอบในมนุษย์
การนำไปใช้ประโยชน์ :
คณะผู้วิจัยฯ มีแผนมีการผลิตเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน สำหรับป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อนำมาทดสอบในมนุษย์ต่อไป และในขณะเดียวกัน คณะผู้วิจัยมีแผนการนำองค์ความรู้ mRNA-based vaccine มาปรับใช้กับสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการป้องกันที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น